สัตว์ป่าชายเลน - องค์การบริหารส่วนตำบลปากทะเล
พิมพ์
         ปลาตีน
      ชื่ออังกฤษ : Mudskipper      
      ชื่อวิทยาศาสตร์ : จัดอยู่ในสกุล Periophthalmodon
      วงศ์ : ในวงศ์ปลาบู่ (Gobiidae)

         ปลาตีนขนาดเล็กเรียกว่าปลาจุมพวด มีความยาวเฉลี่ยประมาณ 10 เซนติเมตร ส่วนปลาตีนขนาดใหญ่ เรียกว่า ปลากระจัง มีความยาวเฉลี่ย 25 เซนติเมตร ปลาตีนเพศผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย เป็นปลาที่ไม่ชอบอยู่ในน้ำแต่ชอบอยู่บนผิวเลนบริเวณป่าชายเลน แต่ละพื้นที่เรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น ปลาจุมพวด ปลากำพุด ปลากระจัง เป็นต้น

      ลักษณะพิเศษคือ สามารถเคลื่อนที่บนบกได้

      แหล่งที่อยู่ของปลาตีน
          ป่าชายเลนในประเทศไทยมีกระจายเป็นตอนๆริมฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดตราด เรื่อยลงไปถึงจังหวัดปัตตานี ส่วนทางฝั่งทะเลอันดามันพบตั้งแต่จังหวัดระนองลงไปสุด ชายแดนไทยที่จังหวัดสตูล ผืนป่าชายเลนซึ่งนับว่าเก่าแก่ที่สุดอยู่ที่ ปากแม่น้ำหงาวในเขตจังหวัดระนอง เต็มไปด้วยต้นโกงกางยักษ์สูง 20-30 เมตร ได้รับการยอมรับว่าเป็นต้นโกงกางที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พรรณไม้เด่นในป่าชายเลน เช่น โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก แสมดำ แสมทะเล โพทะเล ลำพู ลำแพน ฯลฯ โดยส่วนใหญ่เป็นพืชทนแล้ง พรรณไม้ป่าชายเลนมีการปรับตัวต่อสู้กับสภาพดินเลนนิ่มๆและมีคลื่นลมโหมพัดเป็นประจำ ด้วยการสร้างรากค้ำยันพยุงลำต้นไว้ มีรากหายใจ มีต่อมขับเกลือและใบหนาเป็นมันใช้ กักเก็บน้ำไว้หล่อเลี้ยงชีวิต



        ปูก้ามดาบ

       ชื่ออังกฤษ :  White-palm Fiddler Crab
       ชื่อวิทยาศาสตร์ : Uca spp.
       วงศ์ : Ocypodidae

         ปูก้ามดาบมีกระดองเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ขอบด้านข้างของกระดองลู่เข้าด้านท้ายเป็นแนวเกือบตรง ก้านตาใหญ่ ตัวผู้อาจมีก้ามข้างซ้ายใหญ่หรือข้างขวาใหญ่ก็ได้ ส่วนตัวเมียมีก้ามขนาดเล็กทั้งสองข้าง พื้นผิวปล้องที่ 6 ค่อนข้างเรียบ บริเวณปลายก้ามอันล่างมีฟันรูปสามเหลี่ยม 1 ซี่ พื้นผิวกระดองมีสีฟ้า สลับด้วยลายคาดตามขวางสีดำ ก้ามสีส้มอ่อน ตรงปลายก้ามหนีบสีขาว ปูก้ามดาบชนิดนี้ชอบขุดรูอาศัยอยู่ตามพื้นโคลนปนทราย



        กุ้งดีดขัน

       ชื่อภาษาอังกฤษ : COMMON SNAPPING SHRIMP
       ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alpheaus euphrosyne

         เป็นสัตว์จำพวกกุ้งขนาดเล็ก ลำตัวใส ส่วนหัวมีขนาดใหญ่เรียวเล็กลงไปถึงหาง นัยน์ตาเล็กและมีหนวดยาว ขาเดินคู่แรกเป็นก้ามหนีบ ข้างขวามีขนาดใหญ่กว่าข้างซ้าย สามารถดีดทำเสียงดังป๊อก-ป๊อก เมื่อนำกุ้งชนิดนี้ใส่ในขัน แล้วใช้ขนไก่หรือก้านไม้เล็ก ๆ แหย่บริเวณก้ามหนีบ กุ้งจะใช้ก้ามหนีบขบกันทำให้เกิดเสียงดัง ชาวบ้านเรียกว่ากุ้งดีดขัน สีของลำตัวทั่วไปเป็นสีน้ำตาลอมเขียว ก้ามอันใหญ่มีสีเขียวอมฟ้า ขาเดินมีสีแดงอมส้ม มี 5 คู่

         พบอาศัยอยู่ในซอกหินตามชายทะเลทั่วไปและบางทีก็เข้าไปอาศัยอยู่ในรู ตามบ่อ ลำคลองที่มีน้ำจืดแถบจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม กินสัตว์น้ำขนาดเล็ก สาหร่ายและอินทรียวัตถุ ความยาวประมาณ 3-5 ซ.ม. เลี้ยงเป็นสัตว์สวยงาม และทำเป็นเหยื่อตกปลา