ประวัติความเป็นมา องค์การบริหารส่วนตำบลปากทะเล
พิมพ์
เล่าเรื่องปากทะเล


        ปากทะเลเป็นชื่อหมู่บ้านและตำบลชายทะเลในเขตอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี สาเหตุที่เรียก ชื่อบ้านว่าปากทะเล เพราะในสมัยก่อนมีลำคลองขนาดใหญ่ผ่านมาจากทางทิศตะวันตกแล้วไหลลงสู่ทะเลในบริเวณ นี้ ปากคลองที่เชื่อมกับทะเลมีขนาดใหญ่เป็นสิบวา กว้างพอที่เรือประมงและเรือสินค้าขนาดเล็กจะเข้ามาจอดหลบ พายุได้เป็นจำนวนมาก ทำให้บ้านปากทะเลเป็นย่านของคนทำประมงและแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างคนท้องถิ่นกับพ่อ ค้าจากถิ่นอื่น เช่น เมืองชายทะเลในภาคตะวันออก จีน มลายู เป็นต้น
         คลองปากทะเลนั้นไหลมาจากทางทิศตะวันตกอันเป็นที่ตั้งของเมืองเพชรบุรี สมัยที่การคมนาคมทาง บกยังไม่เจริญ คลองปากทะเลเป็นทางเดินเรือสำคัญอีกเส้นหนึ่งที่นักเดินทาง คนทั่วไปและพ่อค้ากลุ่มต่างๆใช้เป็นทางผ่านในการเข้าออกเมืองเพชรบุรีนอกเหนือไปจากเส้นทางแม่น้ำเพชรบุรีที่บ้านแหลมและบางตะบูน ในหนังสือตำนานเมืองเพชรของพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) กล่าวถึงทางน้ำสายนี้ไว้ในหมวดของแม่น้ำตะวันตก มีความตอนหนึ่งว่า
       ? แม่น้ำตะวันตก สายเขาแลง เขาปากช่อง ทางบ้านห้วยข้อง อีกสายหนึ่งผ่านลงมาทางหนองหัวลี ระหารใหญ่ ไปบ้านท่าช้าง ออกทางวัดโพกรุ ไปวัดท่าช้าง บ้านหนอง วัดวังบัว ไปคูบันไดอิฐ รวมกับสายลาดโพ แยกมาคูบันไดอิฐ บ้านดอนโพไปวัดคงคาราม ออกบ้านหม้อ ไปท่าช้าง โด่งไปตะวันออกทางวัดพระรูป ไปบางจาน ลงลาดทะเล ซึ่งปรากฏเป็นปากทะเลในภายหลังนี้ ?
         ข้อมูลอีกอย่างที่แสดงให้เห็นว่าปากทะเลเป็นปากทางสำคัญในการเดินทางเข้าสู่เพชรบุรี ก็คือ ? ด่าน ปากทะเล ? ป้าล้วน ลาภเกิด ผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบ้านปากทะเลแก่ผู้วิจัยเป็นจำนวนมาก ท่านเป็นหลานสาวของหมื่น เปรมประชา ผู้ใหญ่บ้านปากทะเลสมัยรัชกาลที่ 6 - รัชกาลที่ 7 สมัยเป็นเด็กป้าล้วนเข้าเรียนที่โรงเรียนปากทะเล ซึ่งใช้ ด่านเป็นอาคารเรียน ท่านเล่าว่า ? เกิดมาก็เห็นมีด่านอยู่ แต่เขาเลิกใช้กันไปแล้ว ด่านนี้เป็นที่เก็บภาษีและตรวจตรา ผู้คนที่เข้าออกในคลองปากทะเล ตัวด่านปลูกเป็นหอสูงขึ้นไปบริเวณริมคลองปากทะเลใกล้กับวัดในปากทะเล ชั้นล่าง กั้นเป็นห้องเรียน ชั้นบนเป็นที่เก็บหุ่นของหลวงพ่อปลอดอดีตเจ้าอาวาสวัดในปากทะเล ต่อมาพอสร้างอาคารเรียนหลังใหม่จึงได้รื้อด่านออก หุ่นที่เก็บไว้ก็กระจัดกระจายเป็นอันสูญไป นานเข้าคนก็ลืม ?